ประวัติค่ายยุววิศวกรบพิธ

“ค่ายยุววิศวกรบพิธ”

(นามพระราชทาน โดยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช)

ชมรมค่ายอาสาพัฒนา คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ยุว" เพียงหนึ่งน้อย วัยเยาว์
"วิศวกร" คือนามเรา เบื้องหน้า
"บพิธ" ท่านหมายไว้ผู้สร้าง แลนา
คือนามข้าฯ ชาวค่าย วิศวกรรม
กิจกรรมอาสาพัฒนา "ยุววิศวกรบพิธ"

    เป็นบทเรียนนอกมหาวิทยาลัยที่นิสิตวิศวฯจะได้สัมผัสกับผืนแผ่นดินของประเทศ ได้รับรู้ความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้านในชนบท ได้เรียนองค์ความรู้ท้องถิ่น จึงเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสร้างจิตสำนึกของความเป็นวิศวกรที่พึงรับใช้ประเทศได้เป็นอย่างดีจึงขอชื่นชมและสนับสนุนกิจกรรมนี้ต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว
คณบดี

ประวัติความเป็นมาของค่ายยุววิศวกรบพิธ


        ชมรมอาสาพัฒนาของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ก่อตั้งและเริ่มโครงการค่ายอาสาพัฒนาเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมตั้งแต่ปีการศึกษา 2512 เนื่องจาก ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นทางภาคใต้ ทำให้ทางสัญจรหลายสายชำรุดและขาดช่วง การลำเลียงพืชไร่เป็นไปอย่างยากลำบาก ทางนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ประชุมหารือกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบกับว่าเห็นเป็นงานด้านการช่าง ซึ่งพอจะช่วยเหลือได้ จึงได้ออกเดินทางสำรวจเส้นทางในแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้พบเส้นทางสายหนึ่ง ในนิคมสร้างตนเองตำบลอ่าวน้อย ซึ่งเดิมทีทางสายนี้นั้นได้ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงผลิตผลทางการเกษตรของราษฎรในนิคม เพื่อออกสู่ตลาดภายนอก ซึ่งผลจากอุทกภัยในครั้งนั้นได้ทำให้ทางขาด การขนส่งเป็นไปอย่างยากลำบาก ทางนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ตกลงสร้างสะพานไม้ถาวรขึ้นที่นี่ โดยใช้แบบสะพานจากกรมทางหลวง ในด้านเงินงบประมาณนั้นได้จากทางคณะส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงพอในการดำเนินการ ทางนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ร่างหนังสือ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสนับสนุน พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่นิสิต เพื่อใช้ในการประกอบโครงงาน พร้อมกันนี้ยังทรงมีพระกระแสรับสั่งมายังนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกคน มีใจความสั้น ๆ ว่า “จงทำตนให้เป็นผู้ใหญ่ และรอบคอบ ทำอะไรอย่าให้บานปลาย” จากนั้นทางนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้เริ่มดำเนินการสร้างสะพานไม้ถาวรขึ้น นับเป็นผลงานชิ้นแรกของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์

        ต่อมาในปีพุทธศักราช 2514 จึงเกิดนามว่า "ยุววิศวกรบพิธ" ขึ้น เนื่องจากเป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สะพานแขวนที่ชมรมอาสาฯ ได้สร้างขึ้นระหว่างการออกค่ายภาคฤดูร้อน ณ บ้านม่วงชุม ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาก จังหวัดเชียงใหม่ สะพานแขวนนี้ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวได้กราบบังคมทูลขอ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริยังนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่อมา เมื่อชมรมอาสาพัฒนาสร้างสะพานเสร็จ จึงได้พระราชทานนามสะพานว่า "สะพานยุววิศวกรบพิธ" และได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีมาประกอบพิธีเปิดสะพานแห่งนี้

        ในปีต่อๆ มาก็ได้พระราชทานนาม "ยุววิศวกรบพิธ" แก่สิ่งก่อสร้างที่ชมรมอาสาพัฒนาได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นสาธารณสมบัติในท้องที่ทุรกันดาร ตามที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน และเมื่อปีพุทธศักราช 2519 โปรดเกล้าพระราชทานนาม "ยุววิศวกรบพิธ 5" แก่ฝายน้ำล้น ที่ชมรมอาสาพัฒนานิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์สร้างขึ้นที่บ้านโห้ง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และได้ทรงพระกรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้โดยเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด "ฝายน้ำล้นยุววิศวกรบพิธ 5" ด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณาจารย์และนิสิตได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดาอาจารย์ และนิสิตอย่างสุดพรรณนา